พรรณไม้


ระบบนิเวศของป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ประกอบด้วยชนิดป่าที่สำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ 

       1. ป่าดงดิบชื้น พบตามหุบเขาหรือร่องห้วยทางด้านทิศตะวันตกและทางทิศเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติโดยส่วนใหญ่มักเรียกกันว่า “ป่าริมห้วย” ต้นไม้มีขนาดใหญ่และสูงกว่าปกติ มีโครงสร้างของพันธุ์พืชและการปกคลุมพื้นที่ของเรือนยอดชั้นต่างๆที่ค่อนข้างแน่นทึบ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ พญารากดำ มะกอกแบน นกน้อย ผมหอม กระลอขน ตะแบก เสลา เขม่าสาย ตาเสือ เสม็ดเขา หนามขี้แรด ชมพูป่า หว้า เลือดควาย ยางโอน เสม็ดฟอง สะท้อนรอก มะม่วงป่า ลิ้นจี่ป่า และมังคุดป่า เป็นต้น

       2. ป่าดงดิบแล้ง กระจายอยู่ทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยเฉพาะตามที่ลุ่มริมฝั่งน้ำในหุบเขา ไหล่เขา และที่ราบต่ำระหว่างภูเขา ต้นไม้มีขนาดใหญ่ รวมทั้งลูกไม้ กล้าไม้ และพืชพื้นล่างที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ มหาพรหม สมพง ก้านเหลือง ดำดง สมอจัน ข่อยหนาม ถอบแถบ ดีหมี กระชิด หงอนไก่ดง กระเบากลัก หมากเล็กหมากน้อย ปออีเก้ง ตาเสือ ไทร เติม ยมหอม ยมป่า และตะเคียนทอง เป็นต้น



ภาพที่ 5 มหาพรหม 
(ที่มา : คู่มือท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน) 
มหาพรหม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mitrephora winitii Craib
ชื่อวงศ์ : Annonaceae
       ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 5-12 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ ใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับระนาบเดียวรูปขอบขนานหรือรูปไข่กลับแกมรูป ขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนเล็กน้อย แผ่นใบด้านล่างมีขนสีน้ำตาลเหลืองประปราย พบตามชายป่าดงดิบแล้งหรือเขาหินปูน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
       ดอก เป็นดอกเดี่ยวออกตรงข้ามใบ มีกลิ่นหอม ผล ออกบนแกนช่อกลม ผลทรงกลมรีสีเหลืองอมเขียว ผิวมีขนนุ่ม (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2555)

       3. ป่าเบญจพรรณ กระจายเป็นแนวยาวสลับกับป่าดงดิบแล้ง สภาพป่าค่อนข้างโปร่ง ดินมีลักษณะเป็นดินร่วนเหนียว ดินร่วนเหนียวปนทราย ป่าเบญจพรรณส่วนใหญ่กระจายอยู่ตอนกลางและตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทั้งที่เป็นที่ราบและที่ลาดชัน ปกคลุมไปด้วยไผ่หลายชนิดพันธุ์ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตีนเป็ด ประดู่ป่า มะกอกป่า ตะแบก อ้อยช้าง ขี้อ้าย มะค่าโมง ตะแบก ตีนนก แดง ตะคร้ำ ตะโก งิ้วป่า โมกมัน ติ้ว เป็นต้น


ภาพที่ 6 ประดู่ป่า
(ที่มา : https://medthai.com/ประดู่ป่า/)

ประดู่ป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus macrocarpus Kurz
ชื่อวงศ์ : Fabaceae (Leguminosae-papilionoideae)
       ไม้ต้นสูง 15-30 เมตร ใบประกอบขนนกเรียงสลับ ดอกสีเหลือง รูประฆังปลายแยกเป็น 5 แฉก ผลเป็นฝักแบนคล้ายโล่ มีปีกเป็นแผ่นกลม
       พบในประเทศพม่า กัมพูชา ไทย และเวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้บริเวณป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังและป่าดิบแล้ง (องค์การสวนพฤกษศาสตร์, ม.ป.ป.)

       4. ป่าเต็งรัง โดยส่วนใหญ่พบอยู่ทางตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กระจายเป็นหย่อมเล็กๆ ตามยอดเขา พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะแบก เต็ง พะยอม ประดู่ เปล้าหลวง เป็นต้น (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2555)



อ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2555). คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
                กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
องค์การสวนพฤกษศาสตร์. (ม.ป.ป.). ประดู่ป่า. ค้นข้อมูล 19 เมษายน 2561, จาก
                http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?
                botanic_id=2274.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การแบ่งเขตการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สถานที่ที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน