การแบ่งเขตการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ภาพที่ 9 แผนที่การแบ่งเขตการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
(ที่มา : คู่มือท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน)
การแบ่งเขตการจัดการพื้นที่ เพื่อกำหนดรูปแบบการใช้ประโยชน์ให้ เหมาะสมกับศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม สำหรับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้แบ่งเขตการใช้ประโยชน์ออกเป็น 5 เขต ดังนี้
1. เขตบริการ
บริเวณที่มีการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสำหรับบริการนักท่องเที่ยวและการปฏิบัติงานของอุทยานแห่งชาติ
ในเขตนี้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเขตอื่นๆ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้จำเป็นต้องมีการควบคุมให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่เขตบริการในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้แก่ บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และที่ทำการ หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ
2. เขตนันทนาการ
เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อความเพลิดเพลิน ส่วนใหญ่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ จุดชมทิวทัศน์บนเขาพะเนินทุ่ง น้ำตกป่าละอู น้ำตกทอทิพย์ อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน และแค้มป์บ้านกร่าง
3. เขตป่าเปลี่ยว
ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้แก่ พื้นที่ธรรมชาติและระบบนิเวศป่าไม้ประเภทต่างๆ เป็นแหล่งพันธุกรรมของพืชและสัตว์ป่า กิจกรรมในเขตนี้ เช่น การเดินป่า การศึกษาธรรมชาติ และการพักแรมด้วยเต็นท์แบบง่ายๆ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อความปลอดภัย และเพื่อการเรียนรู้สภาพธรรมชาติเพียงเล็กน้อย
4. เขตหวงห้าม
เป็นพื้นที่ที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ได้แก่ พื้นที่ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่น ช้างป่า และเสือโคร่ง พื้นที่ที่ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด อนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น ได้แก่ พื้นที่ทางตอนล่างของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นแนวเขตติดต่อกับ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และบริเวณแนวชายแดนด้านทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่าและเสือโคร่ง
5. เขตกิจกรรมพิเศษ
เป็นพื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมบริเวณที่มีการใช้ประโยชน์ อื่นๆนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้แก่ ฐานปฏิบัติการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 144 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก สาขาโรงเรียนตำรวจนเรศวรห้วยโสก โครงการดูแลรักษาป่าบริเวณป่าละอูบนและเขาพะเนินทุ่งอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโป่งลึก ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา แม่ฟ้าหลวง และหน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 2 อำเภอแก่งกระจาน (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2555)
อ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2555). คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน.
กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
อ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2555). คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน.
กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น