ประวัติความเป็นมาและความสำคัญ




ภาพที่ 1 อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
(ที่มา : https://www.vimannamresort.com/Article/Detail/6013)


       ปี พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จที่เขื่อนแก่งกระจาน วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า “เรื่องป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ถางป่า และทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่า เกิดขึ้น”

       จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้สำรวจหาข้อมูลบริเวณป่าในเขตอุทยาน พบว่า เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี ป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม ประกอบด้วยน้ำตก ถ้ำ ทะเลสาบ หน้าผา และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าต่างๆ เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาความรู้และพักผ่อนหย่อนใจ

       กองบัญชาการทหารสูงสุดและจังหวัดเพชรบุรีได้ขอพื้นที่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เพรียง และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ บางส่วนในตำบลห้วยแม่เพรียง และตำบลป่าเต็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ทำให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคงเหลือพื้นที่ประมาณ 1,821,687 ไร่ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2526 โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2560)

       อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 28 ของประเทศไทย เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี มีลักษณะทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น น้ำตก ถ้ำ ทะเลสาบ หน้าผา เป็นต้น เป็นอุทยานแห่งชาติมีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทย โดยมีเนื้อที่ประมาณ 1,821,875 ไร่ โดยครอบคลุมพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอท่ายาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

       อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้รับการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2524 โดยกำหนดพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำและป่าเหนือเขื่อนแก่งกระจานเป็นเขตอุทยาน พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ในเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งบางส่วนของเทือกเขาตอนเหนืออยู่ในเขตพม่าและเชื่อมต่อกับเทือกเขาภูเก็ตของภาคใต้

       อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีความสำคัญที่สุดในด้านสัตว์ป่าและการอนุรักษ์สัตว์ป่า เพราะมีลักษณะทางธรรมชาติที่ดี ทำให้มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีจำนวนชนิดของนกมากที่สุดในประเทศไทย (บรรหาร เลาหะวิไลย, 2545)


อ้างอิง
บรรหาร เลาหะวิไลย. (2545). 137 อุทยานทั่วไทย. กรุงเทพฯ : แก้ววิไล.
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2560). อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน. ค้นข้อมูล 30 มีนาคม 2561, จาก
               https://th.wikipedia.org/wiki/อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พรรณไม้

การแบ่งเขตการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สถานที่ที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน