สัตว์ป่า

       อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม คือ พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานทางด้านทิศตะวันตกเป็นเขตที่ติดกับป่าที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศพม่า ด้านทิศเหนือมีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ซึ่งล้อมไปด้วยพื้นที่ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร และเชื่อมต่อไปถึงเทือกเขาภูเก็ตของภาคใต้ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นสามารถหลบหนีการไล่ล่าเข้ามายังเขตของอุทยาน
       อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกลายเป็นแหล่งชุมนุมของสัตว์ป่า ชนิดของสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบว่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 47 ชนิด สัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์มี 8 ชนิด เช่น กวางป่า นากเล็กเล็บสั้น นากใหญ่ขนเรียบ ลิงเสน ลิงกัง หมีควาย มีชนิดของนกประมาณ 505 ชนิด



ภาพที่ 7 นกกะลิงเขียดหางหนาม
(ที่มา : https://goo.gl/6jKMXR)

“ นกกะลิงเขียดหางหนาม เป็นนกประจำถิ่นที่สามารถพบได้เฉพาะ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2535 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 28 บนเส้นทางสายวังวัน-น้ำตกทอทิพย์ ” 

นกกะลิงเขียดหางหนาม
ชื่อสามัญ : Ratchet-tailed Treepie
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Temnurus temnurus
ลักษณะ : ปากดำแกมเทา ขนที่ลำตัวแกมเทา หน้าดำเข้ม หางเป็นชั้น ปลายขนแต่ละเส้นแหลมยื่นยาวออกมา
เสียงร้อง : กิ้ว-กิ้ว-กิ้ว และ แคว้ก-แคว้ก เสียงแตกคล้ายห่านบ้าน
ถิ่นอาศัย : ชายป่าดิบ ป่าไผ่ พบไม่บ่อย และพบเฉพาะที่ป่าแก่งจาน (จารุจินต์ นภีตะภัฏ, 2550)

       นกที่ใกล้จะสูญพันธุ์มี 8 ชนิด ได้แก่ นกกะลิงเขียดหางหนาม นกยางจีน นกลุมพูแดง นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกกระเต็นน้อยแถบอกดำ นกแว่นสีน้ำตาล และนกอินทรีปีกลาย และมีสัตว์ป่าอื่นๆ อีก ได้แก่ เสือดาว เสือโคร่ง ช้างป่า เลียงผา เก้งหม้อ นกกกหรือนกกาฮัง นกกระสาคอขาวหน้าผากขาว ชะนีมือขาว หมาจิ้งจอก สมเสร็จ วัวแดง ปาดยักษ์ เต่าหก กบทูด เป็นต้น


ภาพที่ 8 นกกกหรือนกกาฮัง 
(ที่มา : คู่มือท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน)

นกกกหรือนกกาฮัง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Great Hornbill (Buceros bicornis)
       เป็นนกเงือกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในป่าของประเทศไทยสามารถพบเห็นได้ไม่ยากนัก โดยจะอาศัยอยู่ตามป่าที่มีโพรงไม้ธรรมชาติขนาดใหญ่ โดยจะหากินลูกไม้บนต้นไม้เป็นอาหารหลัก มีบ้างที่พบลงพื้นดิน เพื่อมาจับสัตว์ขนาดเล็ก นกกกหรือนกกาฮัง ในฤดูผสมพันธ์นั้น มักอยู่เป็นคู่ไม่ค่อยพบอยู่เป็นฝูงอย่างนกเงือก ต่อเมื่อลูกโตจนสามารถบินได้แล้ว จึงจะพากันบินกลับเข้ามารวมฝูง (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2555)



อ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2555). คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
                กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
จารุจินต์ นภีตะภัฏ. (2550). คู่มือดูนก หมอบุญส่ง เลขะกุล นกเมืองไทย. กรุงเทพฯ : คณะบุคคล
                นาย แพทย์บุญส่ง เลขะกุล.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พรรณไม้

การแบ่งเขตการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สถานที่ที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน