กิจกรรมที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

       อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ทำให้ผู้คนมากมายต่างมาที่พื้นที่แห่งนี้ เพื่อซึมซับเอาความงดงามของธรรมชาติ พักผ่อนหย่อนใจ และเข้ามารู้จักกับโลกของธรรมชาติในรูปแบบของการศึกษาธรรมชาติ ซึ่งในทุกกิจกรรมนั้นล้วนเน้นย้ำให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น และไม่ว่าจะไปประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวประเภทใดก็ตาม หากเพิ่มความสังเกตโดยอาศัยประสาทสัมผัสพื้นฐาน จะช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับการท่องเที่ยวธรรมชาติได้ยิ่งขึ้น
       ตาดู มองบน มองล่าง และรอบๆ ทั้งบนท้องฟ้า ยอดไม้ หรือแม้กระทั่งตามพื้นดิน จับตาดูสิ่งที่เคลื่อนไหว สังเกตรูปร่าง ลักษณะ ขนาด สีสัน และพฤติกรรมของสิ่งนั้น สิ่งที่เห็นอยู่นั้นอาจจะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากเห็นแต่ไม่มีโอกาส
       หูฟัง พยายามเงียบ แล้วธรรมชาติจะบรรเลงเพลงให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นนก แมลง สัตว์ป่า หรือเสียงใบไม้ไหว จะประสานกันดั่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ ถ้าโชคดีอาจจะได้เห็นเจ้าของเสียงนั้น
       สูดลมหายใจลึกๆ พิสูจน์กลิ่นของป่าเขา ได้กลิ่นสาบของสัตว์ป่า กลิ่นดอกไม้ หรือกลิ่นอากาศ

เดินป่าศึกษาธรรมชาติ

       กิจกรรมเดินป่าศึกษาธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเดินป่าที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และมีพละกำลังพอสมควรถึงมาก โดยมีเส้นทางที่น่าสนใจ ได้แก่
1. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ กจ.19 (พะเนินทุ่ง)
       • เส้นทางกิโลเมตรที่ 29-น้ำตกธารทิพย์
              ลักษณะเส้นทางเดินเป็นสันเขาสูงชันเล็กน้อย เมื่อเข้าไปในเส้นทางจะพบพันธุ์ไม้มากมาย เช่น ก่อหวายไทรยาง และสมุนไพรที่มีขนาด ใหญ่โต 5คนโอบ นั่นคือ กะเพราต้น เมื่อเดินทางเข้าไปถึงน้ำตกชั้นแรกจะได้พบกับความงามของธรรมชาติ พืชพันธุ์ โดยเฉพาะปรง เตยหนามยักษ์ มหาสดำ จันทน์ผา ค้อดอย ซึ่งเป็นเครื่องประดับของน้ำตกธารทิพย์ทั้ง 5 ชั้น


ภาพที่ 10 จันทน์ผา
(ที่มา : https://www.samunpri.comจันทน์ผา/)

จันทน์ผา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dracaena loureiri Gagnep.
ชื่อวงศ์ : Agavaceae
เป็นไม้พุ่มที่มีขนาดใหญ่หรือไม้ต้นขนาดเล็ก แต่จะไม่ผลัดใบ ลำต้นจะกลมๆ คล้ายกับต้นหมาก และเปลือกของลำต้นจันทร์ผานั้นจะมีสีเทาๆ ส่วนใบจะแตกเป็นช่อๆ โดยจะแตกบริเวณปลายยอดเท่านั้น เรือนยอดเป็นรูปทรงไข่ เมื่อต้นโตจะแผ่กว้างขยายออกไป เปลือกต้นสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทา แตกเป็นร่องตามยาว
จันทน์ผา ออกดอกสีขาวนวลตรงกลางดอกมีจุดสีแดง มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ตามซอกใบที่ปลายกิ่ง ผล เป็นทรงกลมขนาดเล็กอยู่รวมกันเป็นพวง ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีแดงคล้ำ มีเมล็ดเดียว (สมุนไพรดอทคอม, ม.ป.ป.)


ภาพที่ 11 ค้อดอย
(ที่มา : https://goo.gl/fnm4St)

       • เส้นทางพระตำหนัก – ยอดเขาพะเนินทุ่ง
              เป็นเส้นทางที่ท้าทายความสามารถของนักเดินป่า เพราะจะต้องเตรียมความพร้อมของร่างกาย อาหาร เครื่องนุ่งห่มให้พร้อม เนื่องจากข้างบนอากาศหนาวเย็นตลอดปี จุดเริ่มต้นจากพระตำหนักกิโลเมตร ที่ 31 ในระหว่างเดินทางอาจจะได้พบนกกะลิงเขียดหางหนามที่สามารถพบได้ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพียงที่เดียว เมื่อถึงยอดเขาจะพบกับธรรมชาติที่งดงาม หรืออาจจะได้เห็นกุหลาบพันปี และทะเลหมอกบนยอดเขาพะเนินทุ่ง เส้นทางนี้ไม่สามารถไปกลับได้ภายในวันเดียว
       • เส้นทางกิโลเมตรที่ 33 น้ำตกหินลาด โป่งหมู ผากล้วยไม้ เคยูแค้มป์
              จากกิโลเมตรที่ 33 เดินลงไปประมาณ 1 ชั่วโมง จะพบชั้นน้ำตกหินลาด มีความสูง 3 ชั้นให้ได้ชมความงาม และ แหล่งน้ำของสัตว์ป่าที่หายาก อยู่ไม่ไกลจากโป่งหมู
โป่งหมู มีลักษณะเป็นโป่งขนาดใหญ่มีสัตว์ป่าหากินมากมาย โดยเฉพาะช้างป่า สมเสร็จ กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง เสือ สามารถพบเห็นร่องรอยการหากินของสัตว์เหล่านี้ได้ เส้นทางนี้ต้องพักแรมอย่างน้อย 1 คืน
       • เส้นทางพระตำหนัก – บ่อน้ำร้อน – น้ำตกทอทิพย์
              เป็นเส้นทางสัญจรดั้งเดิม ก่อนที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อลงไปถึงน้ำตกทอทิพย์จะพบบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ และได้สัมผัสกับต้นน้ำของน้ำตกทอทิพย์ เส้นทางนี้ไม่สามารถไปและกลับได้ภายในวันเดียว ไม่ต้องพักแรมในป่า
       • เส้นทางกิโลเมตรที่ 36 น้ำตกทอทิพย์
              เป็นเส้นทางที่ท้าทายกำลังของผู้ที่มาท่องเที่ยว นอกจากจะได้รับอากาศที่บริสุทธิ์แล้ว ยังได้ออกกำลัง และชมความงามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะพืชพรรณไม้ จะเป็นป่าดงดิบกับป่าเบญจพรรณ เส้นทางนี้สามารถเดินทางไป – กลับได้

2. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.4 (บ้านกร่าง) มีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ 7 เส้นทาง ได้แก่
       • เส้นทางลานกางเต็นท์-ลำธารหนึ่ง
              เป็นเส้นทางที่เหมาะสำหรับดูนก ศึกษาพันธุ์ไม้ และเป็นเส้นทางที่มีทางด่านของสัตว์ป่ามาเชื่อมหลายเส้นทาง และยังไม่มีป้ายบอกทาง ในการเดินควรติดต่อเจ้าหน้าที่นำทาง
       • เส้นทางโรงสูบนน้ำ – รอบศูนย์บริการฯ
              สามารถเดินได้สะดวก ปลอดภัย ข้างทางเป็นป่าละเมาะผสมผสานกับป่าเบญจพรรณ เหมาะที่จะเดินดูนก ผีเสื้อ ชมพันธุ์ไม้ได้ด้วยตนเอง
       • เส้นทางศึกษาธรรมชาติชีวิตเถาวัลย์
              อยู่ใกล้บริเวณลานกางเต็นท์บ้านกร่าง สภาพป่าตลอดเส้นทางเป็นป่าดงดิบแล้งประกอบด้วยต้นไม้ใหญ่ค่อนข้างมาก
       • เส้นทางกิโลเมตรที่ 23 น้ำตกปราณบุรี กิโลเมตรที่ 18
       สามารถที่จะชมธรรมชาติของน้ำตกที่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่ ปกคลุมไปด้วยหมู่แมกไม้ตามโขดหิน บริเวณน้ำตก และลำธารยังเป็นแหล่งดูผีเสื้ออีกด้วย เนื่องจากมีผีเสื้อมากมายหลายชนิดเหมาะ สำหรับผู้ที่ชอบเดินระยะไกล
       • เส้นทางบ้านกร่าง – เขาปะการัง – ต้นมะค่าโมง – โป่งพรม
              สามารถเดินเข้าไปชมความงามของหินงอกหินย้อยภายในถ้ำเขาปะการังได้
       • เส้นทางโป่งพรม-กิโลเมตรที่ 15
              สภาพภูมิประเทศของถนนสองฝั่งเป็นพื้นที่ราบทุ่งหญ้า สภาพป่าเป็นป่าละเมาะและป่าเบญจพรรณ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งดินโป่ง ทั้งโป่งดิน และโป่งน้ำ


2. การดูนก
       การเดินทางไปชมธรรมชาติของป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่จะเน้นไปที่การดูนกที่มีอยู่ในอุทยาน โดยการดูนกจะต้องมีกล้องสองตาหรือกล้องเทเลสโคปไปด้วย เพื่อจะได้เห็นรายละเอียดต่างๆ เช่น สีสัน  รูปร่าง ของนกได้อย่างชัดเจน และในการดูนก จะต้องไม่สร้างสิ่งรบกวนหรือความลำบากให้กับนก

3. การดูผีเสื้อ
       อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการดูหรือศึกษาเกี่ยวกับผีเสื้อ เพราะสามารถพบผีเสื้อได้เกือบทุกฤดู โดยผีเสื้อส่วนที่จะพบนั้นขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ และมีความชุ่มชื้นของป่า หรือฤดูกาลนั้นๆ

4. การตั้งแค้มป์
       อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ไว้ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการทำกิจกรรมตั้งแค้มป์ โดยการตั้งแค้มป์ สามารถชมความสวยงามของธรรมชาติบริเวณรอบๆได้ บริเวณที่สามารถตั้งแค้มป์ได้ คือ ที่ทำการอุทยานฯริมอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานแค้มป์ พะเนินทุ่งแค้มป์ เคยูแค้มป์ แม่สะเลียงแค้มป์ และบ้านกร่างแค้มป์

5. การล่องแก่ง

       การล่องแก่งจะเริ่มจากเคยูแค้มป์ การล่องแก่งด้วยเรือยางเป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับฤดูฝนที่สุด ในการล่องแก่งนี้ จะผ่านลำห้วย แก่งต่างๆ และสิ้นสุดที่หน่วยพิทักษ์ป่าโป่งลึก (นักศึกษาโปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 4, 2545)



อ้างอิง
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2555). คู่มือท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน.
                  กรุงเทพฯ : ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
นักศึกษาโปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 4. (2545). รายงานการวิจัย เรื่อง
                  ความสนใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในอุทยาน
                  แห่งชาติแก่งกระจานจังเพชรบุรี พ.ศ. 2545. เพชรบุรี : สถาบันราชภัฏเพชรบุรี.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

พรรณไม้

การแบ่งเขตการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

สถานที่ที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน